วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ภาษาภาพยนตร์ : องค์ประกอบของภาพยนตร์03

องค์ประกอบด้านการแสดง (Acting)
การแสดง เครื่องแต่งกาย การแต่งหน้า และ ผม ในภาพยนตร์เรื่อง Batman: The Dark Knight (Mthai. 2008)
การแสดงบทบาทของตัวแสดงที่สรวมบทบาทต่าง ๆ นั้น เป็นหัวใจหลักในการสื่อสาร
ของภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง(Performance) ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ การแสดงที่สมบาทบาทของผู้แสดงด้วยท่าทาง หน้าตา คำพูดและอารมณ์ต่าง ๆ รวมทั้งการใช้ลักษณะและสีสรรของเครื่องแต่งกาย(Wardrobe) การแต่งหน้า (Makeup) และทรงผม(Hair) หรืออาจจำเป็น
ต้องใช้การแต่งหน้าพิเศษ (Special Effects Makeup) เช่น การสร้างริ้วรอยของวัย สีผิว รอยบาดแผล ฯลฯ เพื่อจะสื่อสารเป็นภาษาภาพยนตร์ให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเรื่องราว และอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
องค์ประกอบด้านการถ่ายภาพยนตร์ (Cinema Photography)
ภาพยนตร์มีความแตกต่างจากภาพถ่ายทั่วไปที่เป็นภาพนิ่ง(Still Photo) ด้วย
ภาพยนตร์เป็นชุดภาพนิ่งที่เรียงร้อยต่อเนื่องกันที่เกิดจากกระบวนการการถ่ายทำด้วยกล้องและฟิล์มภาพยนตร์ที่สามารถบันทึกได้ทั้งสิ่งที่เคลื่อนไหวและสิ่งที่หยุดนิ่ง และเมื่อนำมาฉายผ่านระบบการฉายของเครื่องฉายภาพยนตร์ ภาพที่ปรากฏจะเกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวตามที่บันทึกไว้ และผู้ชมสามารถมองเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ด้วยหลักการภาพติดตา(Persistence of Vision)
ภาพยนตร์ที่ฉายปรากฏบนจอ เพื่อเล่าเรื่องราว สื่อความหมายอย่างสมบูรณ์สวยงามได้นั้น ผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ ผู้กำกับภาพ(Director of Photography) ซึ่งจะต้องทำการจัดองค์ประกอบของภาพ(Composition)อย่างมีศิลปะ สวยงาม เพื่อให้การถ่ายทำภาพยนตร์สามารถสื่อความหมายได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีหลักการดังนี้
5.1) อง5.2) ค์ประกอบภาพ(Composition of shot) คือ การจัดอง5.3) ค์ประกอบในกรอบ
ภาพ(frame)ให้สวยงามและสื่อความหมายเพื่อการถ่ายภาพยนตร์ในหนึ่งช็อต (shot) คล้ายกับหลักการการจัดองค์ประกอบภาพของการถ่ายภาพนิ่งทั่วไป แต่ภาพยนตร์นั้นต้องถ่ายภาพเคลื่อนไหวซึ่งมีทั้งสิ่งที่ถูกถ่ายเคลื่อนไหวและกรอบภาพหรือกล้องมีการเคลื่อนที่ ดังนั้นการจัดองค์ประกอบภาพของภาพยนตร์ต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
พื้นที่และตำแหน่งการจัดวางตัวแสดงในกรอบภาพ เช่น จัดวางตำแหน่ง
ผู้หญิงแก่ยืนด้านขวามือค่อนเข้ามาทางตรงกลางกรอบภาพ ศีรษะอยู่ในพื้นที่ด้านบนของกรอบภาพ จัดวางเด็กผู้หญิงตัวน้อยนั่งร้องไห้อยู่ติดมุมซ้ายด้านล่างของภาพ เป็นการแสดงความ
หมายสื่อถึงความสำคัญ ความเหนือกว่าของหญิงชราและความต้อยต่ำด้อยค่าของเด็กผู้หญิง ฯลฯ เป็นต้น
พื้นที่และตำแหน่งการเคลื่อนไหวของสิ่งที่อยู่ในกรอบภาพ เช่น ตำแหน่ง
ของหญิงแก่เปลี่ยนไป โดยเดินขยับไปหาเด็กหญิง โน้มตัวและนั่งลงปลอบใจเด็กหญิง เป็นการแสดงความหมายสื่อถึงความเท่าเทียมกันของหญิงชราและเด็กผู้หญิง ฯลฯ เป็นต้น
พื้นที่และตำแหน่งการเคลื่อนที่ของกรอบภาพหรือกล้อง เช่น กรอบภาพ
เคลื่อนที่โดยการเคลื่อนที่เข้าหาเด็กหญิงในระยะใกล้ขนาดครึ่งตัว เป็นการแสดงความหมายสื่อถึง เปลี่ยนการให้สำคัญ การให้ความสนใจพุ่งมายังเด็กผู้หญิง แทนที่หญิงชรา ฯลฯ เป็นต้น
พื้นที่นอกกรอบภาพ (off-frame) เช่น การให้พื้นที่นอกกรอบภาพ สามารถ
ใช้สื่อความหมาย อารมณ์ หรือนัยยะสำคัญไว้นอกกรอบภาพที่ผู้ชมไม่เห็นได้ เช่น การซ่อนตัวแสดง หรือมีตัวแสดงหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดถึงไว้ เพื่อสร้างความลึกลับ สร้างความตื่นเต้น ความหวาดกลัวให้เกิดแก่ผู้ชม ซึ่งตัวแสดงหรือเหตุการณ์เหล่านั้นอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ เช่น เมื่อกรอบภาพจับอยู่ที่เด็กหญิง เด็กหญิงใช้สายตามองผ่านไปยังพื้นที่ด้านใดด้านหนึ่งจนออกนอกกรอบภาพ แสดงสีหน้าอารมณ์หวาดกลัว เป็นการแสดงความหมายสื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่า จะต้องมีหรืออาจจะมีเหตุการณ์หรืออบางสิ่งบางอย่างปรากฏขึ้นมาจากทางด้านนั้น ฯลฯ เป็นต้น
การให้พื้นที่นอกกรอบภาพ(off-frame) จากภาพยนตร์เรื่อง P2 ลานสยองจ้องเชือด (Mthai. 2008)
และ Bruce Mamer(1999) ได้กล่าวถึงการสร้างสรรค์และถ่ายทำภาพยนตร์(Creating the Shots) โดยสื่อสารผ่านภาษาของกล้อง(The Language of the Camera) สามารถอธิบายได้ดังนี้
5.4) ระยะของ5.5) ภาพ ( Proxemics ) คือ ระยะที่ความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง5.6) กัน(Proximity)
ระหว่างกล้องกับสิ่งที่จะถ่าย เช่น ระยะห่างของกล้องกับคนที่จะถ่ายขนาด 10 เมตร เราจะได้ภาพ
คนเต็มตัว ระยะห่างของกล้องกับคนที่จะถ่ายขนาด 5 เมตร เราจะได้ภาพครึ่งตัว หรือระยะห่าง
ของกล้องกับคนที่จะถ่ายขนาด 1 เมตร เราจะได้ภาพคนเฉพาะใบหน้า ฯลฯ เป็นต้น
ระยะของภาพ (Proxemics) ไม่ได้หมายถึงขนาดของกรอบภาพ (Frame Size) เนื่องจากขนาดกรอบภาพหรือฟิล์มภาพยนตร์ที่ถ่ายนั้นคงที่ สิ่งที่ถ่ายจะดูใหญ่ หรือเล็ก หรือมีขนาดเท่าไหร่นั้น จะขึ้นอยู่กับระยะห่างของกล้องกับสิ่งที่จะถ่าย และขึ้นอยู่กับการใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสแตกต่างกัน เพื่อการถ่ายภาพให้ได้ภาพขนาดแตกต่างกันในขณะที่ระยะห่างของกล้องและสิ่งที่จะถ่ายคงเดิม เช่น การใช้เลนส์เทเลโฟโต้ หรือเลนส์ซูมที่สามารถเปลี่ยนระยะภาพได้ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่ง Mamer กล่าวว่า ในช็อต(Shot)การถ่ายภาพยนตร์นั้น จะประกอบด้วยลักษณะภาพพื้นฐานอยู่ 3 ลักษณะ คือ
ภาพระยะไกล (Long Shot) หรือ LS เช่น ภาพคนขนาดเห็นได้เต็มตัว
ภาพระยะปานกลาง (Medium Shot) หรือ MS เช่น ภาพคนขนาดครึ่งตัว
ภาพระยะใกล้ (Close-up Shot) หรือ CU เช่น ภาพคนเฉพาะใบหน้า
LS MS CU
ลักษณะของระยะภาพไกล ปานกลาง และใกล้ จากภาพยนตร์เรื่อง Ice Bar (Mthai.2008)
ซึ่งระยะของภาพจะสื่อถึงความสนใจ ความใส่ใจ หรือความสำคัญที่มีมากน้อยของสิ่งที่ถ่ายตามระยะความห่าง นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งแยกย่อยเป็นระยะภาพต่าง ๆได้อีกหลายระยะภาพ เช่น ภาพระยะไกลพิเศษ (Extreme Long Shot) หรือ ELS อาจภาพที่แสดงอาณาเขตกว้างใหญ่ หรือแสดงความยิ่งใหญ่ ความสำคัญของฉาก เรียกว่า Establishing Shot, ภาพระยะใกล้พิเศษ (Extreme Close-up Shot) หรือ ECU ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งระยะภาพที่แตกต่างกันจะสื่อความหมายแตกต่างกันออกไปด้วย
5.7) มุมภาพ ( Camera Angles ) คือ การถ่ายทำภาพยนตร์โดยการกำหนดทิศทาง5.8)
ระดับ หรือทำมุมองศากับตัวแสดงหรือสิ่งที่จะถ่ายทำในองศาหรือลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งก็จะมีผลทางอารมณ์และการสื่อความหมายที่แตกต่างกันออกไปด้วย เช่น
ภาพมุมระดับสายตา ( Eye-Level Shots ) เป็นภาพที่ถ่ายระดับสายตาปกติ
จะสื่อความหมายปกติทั่วๆไปตามบทบาทการแสดง
ภาพมุมต่ำ ( Low-Angle Shots ) เป็นภาพที่กล้องอยู่ระดับต่ำกว่าสิ่งที่จะ
ถ่ายซึ่งแสดงความหมายถึงความสูงส่ง ความยิ่งใหญ่ ความน่าเกรงขาม ฯลฯ เป็นต้น
ภาพมุมสูง ( High-Angle Shots ) ) เป็นภาพที่กล้องอยู่ระดับสูงกว่าสิ่งที่จะ
ถ่ายซึ่งแสดงความหมายถึงความด้อย ต้อยต่ำ ไม่น่าสนใจ ฯลฯ เป็นต้น
ภาพแทนสายตานก ( Bird’s –Eye View ) เป็นภาพที่กล้องอยู่ระดับสูงกว่า
สิ่งที่จะถ่ายมาก ทำมุมประมาณ 90 องศา ซึ่งแสดงความหมายถึงความด้อย ต้อยต่ำ ไม่น่าสนใจยิ่งขึ้นหรืออาจเพียงแสดงอาณาเขตและรายละเอียดเล็ก ๆ ซับซ้อนที่มีมากมาย ฯลฯ เป็นต้น
ภาพแทนสายตาหนอน ( Worm’s –Eye View ) เป็นภาพที่มีลักษณะตรงกัน
ข้ามกับภาพแทนสายตานก คือ เป็นภาพที่กล้องอยู่ระดับต่ำกว่าสิ่งที่จะถ่ายมาก เงยกล้องขึ้นทำมุมประมาณ 90 องศา ซึ่งแสดงความหมายถึงความสูงส่ง ความยิ่งใหญ่ ความน่าเกรงขามอย่างมากหรืออาจเป็นเพียงการแสดงมุมมอง หรือมุมภาพที่แปลกใหม่ ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว ยังมีมุมภาพอีกหลายลักษณะที่จะใช้ในการสื่อสารความหมาย
อารมณ์ความรู้สึก และเรื่องราวในภาษาของภาพยนตร์ที่แตกต่างกันออกไป
5.9) การเคลื่อนที่ของ5.10) กล้อง5.11) ( Camera Movement) คือ การเคลื่อนที่กล้อง5.12) จาก
ตำแหน่งหนึ่งไปอีกตำแหน่งหนึ่ง หรือตำแหน่งกล้องอยู่กับที่แต่เปลี่ยนแปลงมุมมองของกล้อง หรือกรอบภาพไปอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาพ มุมมอง เรื่องราว ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพยนตร์มีเรื่องราว มีชีวิต มีแง่มุมและรายละเอียดที่น่าสนใจ มากกว่าวางมุมกล้องถ่ายนิ่ง ๆ (Fix) ต่อเนื่องยาวๆ ได้แก่
การกวาดภาพแนวนอน ( Paning ) เป็นการส่ายกล้องหรือกวาดภาพไปใน
แนวนอน โดยตั้งขากล้องอยู่กับที่ ภาพที่ผู้ชมเห็นจากการกวาดภาพ สื่อถึงการติดตามการแสดงของสิ่งที่ถ่ายหรือเปิดเผยให้เห็นสิ่งที่อยู่ต่อเนื่องนอกกรอบภาพ สามารถกวาดภาพได้ทั้งการกวาดภาพไปทางซ้าย( Pan Left ) และการกวาดภาพไปทางขวา( Pan Right )
การกวาดภาพแนวตั้ง ( Tilting ) เป็นการส่ายกล้องหรือกวาดภาพไปในแนว
ตั้ง โดยตั้งขากล้องอยู่กับที่ การกวาดภาพมี 2 ลักษณะคือ แบบกวาดภาพขึ้น (Tilt up )และแบบกวาดภาพลง ( Tilt Down ) ภาพที่ผู้ชมเห็นจากการกวาดภาพแบบนี้ จะสื่อความรู้สึกถึงการติดตามการเคลื่อนที่ของนักแสดง ความรู้สึกถึงความสูง ความน่ากลัว ความหวาดเสียว เป็นต้น
- การเคลื่อนกล้อง (Tracking) เป็นการเคลื่อนกล้องจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งในทิศทางต่าง ๆ เช่น เคลื่อนกล้องเข้าหรือออกจากวัตถุหรือตัวแสดง หรือเคลื่อนกล้องไปทางซ้ายหรือขวาของวัตถุหรือตัวแสดง อาจจะเรียกว่า การดอลลี่ ( Dolly ) ก็ได้ การแทรคใช้ในการติดตามนักแสดง หรือเป็นการให้ความสำคัญมากหรือน้อยกับอารมณ์ของนักแสดง และเป็นการรักษาอารมณ์ของผู้ชมและเรื่องราวให้ต่อเนื่อง
- การใช้เครนถ่าย (craning) การใช้กล้องติดตั้งอยู่บนอุปกรณ์ที่เรียกว่า เครน ซึ่งมีลักษณะคล้ายรถปั้นจั่น จะทำให้สามารถเคลื่อนกล้องไปยังทิศทางและมุมองศาต่าง ๆ ได้อย่างอิสระและต่อเนื่อง ภาพที่ได้จากการเครนจะให้ความรู้สึกน่าสนใจและสร้างมุมมองที่แปลกใหม่จากระยะภาพที่กำลังเปลี่ยนไปได้อย่างต่อเนื่องให้แกผู้ชม
- การถือกล้องถ่าย (handheld camera) เป็นการเคลื่อนกล้องที่มีความเป็นอิสระ ต่อเนื่อง ภาพอาจเคลื่อนไหวไปมา สามารถเคลื่อนกล้องติดตามผู้แสดงได้อย่างต่อเนื่อง หลากหลายมุมภาพ เช่น ฉากที่ต้องการความตื่นเต้น ระทึกใจ การถือกล้องถ่าย จะให้อารมณ์และความรู้สึกสมจริง เหมือนว่าผู้ชมอยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย
นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบภาพและลักษณะภาพอื่นๆที่จะสามารถสร้างอารมณ์ความ
รู้สึกในเรื่องราวของภาพยนตร์ได้อีกหลายลักษณะ เช่น ใช้เทคนิคภาพพิเศษ (Visual Effects )
ด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิก (CG) การใช้ฟิลเตอร์สีหรือสร้างภาพแบบต่างๆสรวมหน้ากล้อง
การเปลี่ยนระยะโฟกัส รวมทั้งการเลือกใช้ฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ในลักษณะต่าง ฯลฯ เป็นต้น
องค์ประกอบด้านเสียง ( Sound )
นอกจากภาพยนตร์ จะมีภาพ(Image)เป็นองค์ประกอบหรือปัจจัยหลักในการสื่อความหมายแล้ว ยังมี เสียง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่ง เสียงจะช่วยเสริมสร้างอารมณ์ให้ข้อมูลรายละเอียดอื่นๆ และแก้ไขปัญหาในกรณีที่ภาพไม่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจนเต็มที่
เสียงที่ใช้ในการสื่อความหมายในภาพยนตร์สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
6.1) เสียงในบทสนทนา (Dialogue) คือ เสียงที่เกิดจากถ้อยคำที่เปล่งออกมา เช่น เสียงสนทนาโต้ตอบ เสียงแสดงอารมณ์ของตัวแสดง รวมทั้ง เสียงบรรยาย (narration ) ต่าง ๆ
6.2) เสียงประกอบ (Sound Effects) คือ เสียงที่ไม่ใช่เสียงพูด เป็นเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละฉากของภาพยนตร์จนกระทั่งจบ ได้แก่ เสียงจริงที่ที่มาจากแหล่งกำเนิดเสียงในฉาก (Local Sound ) เช่น เสียงฝีเท้าม้าวิ่ง เสียงรถยนต์วิ่ง เสียงลากสิ่งของ ฯลฯ เป็นต้น หรือเสียงบรรยากาศ ( Ambient Sound ) เช่น เสียงลมพัด เสียงกลองเพลในระยะไกล รวมทั้งเสียงประกอบที่สร้างขึ้น (Artificial Sound) เพื่อความสมบูรณ์และอารมณ์ของภาพยนตร์ เช่น เสียงชกต่อย เสียงหักกระดูก เสียงระเบิด เสียงปีศาจ ฯลฯ เป็นต้น
6.3) เสียงดนตรี (music) เสียงดนตรีเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างความอารมณ์และรู้สึกต่าง ๆให้กับผู้ชม สามารถใช้เล่าเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ บ่งบอกบุคลิก-
ภาพหรือรสนิยมของผู้แสดง ใช้เสริมอารมณ์ความรู้สึก (Component) หรืออาจใช้สร้างความขัด
แย้งทางอารมณ์ (Contrast) ให้เกิดขึ้นกับผู้ชม เพื่อสื่อความหมาย อารมณ์และความรู้สึกของเรื่องราวที่ปรากฏในภาพยนตร์ให้ชัดเจนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
องค์ประกอบด้านการตัดต่อและลำดับภาพ ( Editing )
องค์ประกอบด้านการตัดต่อและลำดับภาพนั้น คือ การนำปัจจัยต่างๆมาประกอบเข้า
ด้วยกัน เดิมในภาษาฝรั่งเศส เรียกว่า Montage แต่ปัจจุบันนิยมเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Editing
หรือ Cutting การตัดต่อและลำดับภาพ ก็คือ การนำเอาภาพและเสียงต่าง ๆ ในแต่ละช็อตมาร้อย
เรียงเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดลำดับของการเล่าเรื่องราวที่สมบูรณ์ตามความต้องการของผู้
ผลิตภาพยนตร์ โดยปกติแล้ว มักจะตัดต่อและลำดับภาพตามที่บทภาพยนตร์ระบุบ่งบอกไว้เป็นหลัก
การตัดต่อและลำดับภาพ เสมือนเป็นการเขียนเรียบเรียง จัดโครงสร้างการเล่าเรื่องให้เป็นรูปประโยค (Sytax) โดยคำนึงถึง โครงสร้างเรื่อง ลำดับเรื่อง จังหวะ และอารมณ์ของภาพยนตร์ โดยใช้เทคนิคการตัดต่อเชื่อมโยงภาพที่ได้จากการถ่าย ( Footages ) มาประกอบร่วมกันในลักษณะต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนช็อตทันทีในลักษณะการตัดชน (Cut) และการเปลี่ยนช็อตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น การจางภาพ(Fade) การจางซ้อนภาพ(Dissolve) และการกวาดภาพ(Wipe) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเรื่องราวและอารมณ์ของภาพยนตร์ อันมีผลต่อความรู้สึกของผู้ชมที่แตกต่างกัน ประเภทของการตัดต่อและลำดับภาพนั้นมีประเภทหลัก 2 ประเภทและยังแยกย่อยออกไปอีกหลายประเภท ดังนี้
7.1) การตัดต่อแบบต่อเนื่อง (Continuity Cutting) เป็นแบบที่ภาพยนตร์ส่วนใหญ่นิยมใช้ ซึ่งการตัดต่อและลำดับภาพแบบนี้ จะคำนึงความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันของเรื่องราวอย่างมีเหตุผลระหว่างช็อตต่อช็อต เช่น องค์ประกอบภาพ การเคลื่อนไหวของวัตถุในภาพ ตำแหน่ง การแสดง ทิศทางการมอง เวลา และ พื้นที่ ฯลฯ อันจะช่วยให้ผู้ชมมีอารมณ์ต่อเนื่องและเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายซึ่งมีรูปแบบที่นิยมใช้ดังนี้
- การตัดต่อสลับเหตุการณ์ (Cross Cutting / Parallel Cutting) โดยการนำเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ หรือมากกว่า มาตัดสลับเข้าด้วยกัน เพิ่มความน่าสนใจ น่าติดตาม สื่อถึงความขัดแย้ง เปรียบเทียบลักษณะของผู้แสดงหรือเหตุการณ์ และสร้างความรู้สึกตื่นเต้นแก่ผู้ชม
- การตัดต่อแบบภาพกระโดด (Jump Cutting / Cutting on Action) เป็นการ
ตัดต่อและลำดับที่นิยมใช้ในภาพยนตร์สไตล์สมัยใหม่(New Wave) หรือภาพยนตร์ที่ต้องการสื่อหรือต้องการสร้างอารมณ์และความรู้สึกพิเศษ เป็นการตัดต่อที่ไม่คำนึงถึงความต่อเนื่องในการแสดงของผู้แสดง การตัดต่อแบบนี้สามารถใช้สื่อถึงความแปรปรวนในจิตใจของตัวละครหรือเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมายในภาพยนตร์ได้
7.2) การตัดต่อแบบเรียบเรียง (Compilation Cutting)
เป็นการตัดต่อและลำดับภาพที่ไม่ได้คำนึงความต่อเนื่องของแอคชั่นนักแสดง มักนิยมใช้ในภาพยนตร์ข่าว (Newsreels) หรือภาพยนตร์สารคดี (Documentary Film) ซึ่งภาพหรือ
ช็อตต่าง ๆ จะถูกนำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกันโดยใช้คำบรรยาย (Narrative)เพื่อการสร้างความต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้เสียงดนตรีหรือเสียงประกอบต่าง ๆ มาประกอบเชื่อมโยงกัน ในภาพยนตร์บันเทิง(Feature Film)มักจะเห็นในบางส่วน เช่น ในการบอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆในช่วงเปิดเรื่อง หรือเสริมเรื่องราวในบางช่วง ฯลฯ เป็นต้น
สรุป
ภาพยนตร์ เป็นศิลปะแขนงใหม่ เป็นวัฒนธรรมสมัยนิยม(Pop Cultural) และเป็นสื่อสารมวลชน ที่มีศักยภาพและอิทธิพลต่อการรับรู้ เรียนรู้ เลียนแบบ ยอมรับ นำไปใช้และสามารถจะปลูกฝังจนกลายเป็นทัศนคติและค่านิยมทางสังคมได้ สาระสำคัญของบทความนี้ มุ่งประเด็นไปที่องค์ประกอบต่าง ๆ ของภาพยนตร์ ที่เป็นภาษาภาพยนตร์ และใช้สื่อสารกับผู้ชมทั่วไปเป็นพื้นฐาน โดยยังคงมีสาระเพื่อการศึกษาด้านภาษาภาพยนตร์อยู่อีกหลายด้าน และด้วยภาพยนตร์ภาษาสากลรูปแบบหนึ่ง การศึกษา ทำความเข้าใจในภาษา สัญลักษณ์ ความหมาย หรือนัยยะทางภาพยนตร์เพิ่มเติม นอกจากจะได้ประโยชน์จากการที่สามารถเข้าใจเรื่องราวและความหมายในภาพยนตร์ได้มากและลึกซึ้งแล้ว การรู้เท่าทันยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีสำคัญ เพื่อที่จะสามารถสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ เลือกและนำไปใช้เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารแลกเปลี่ยน หรือเชื่อมโยงสัมพันธ์แก่ผู้ชมทั้งโลกได้อย่างสร้างสรรค์
เอกสารอ้างอิง
รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม. 2545. นักสร้าง สร้างหนัง หนังสั้น. กรุงเทพฯ. โครงการตำรา
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Andrew, J. Dudley. 1976. The Major Film Theories : An Introduction. New York.
Oxford University Press.
Long, Ben and Schenk, Sonja. 2000. Digital Filmmaking Handbook. USA. Charles
River Media,Inc
Mammer, Bruce. 1999. Film Production Technique : Creating the Accomplished
Image. 2 Second Edition. USA. Wadsworth.
Monaco, James. 1981. How to Read Film : The Art Technology, Language, History
and Theory of Film and Media. Revised Edition. New York. Oxford University
Press.
Mthai. 2008. movie.mthai. Retrieved November 29, 2008, from
http://movie.mthai.com/view/16/29875-twilight.movie
http://movie.mthai.com/view/16/8048-.movie
http://movie.mthai.com/view/16/15100-.movie
http://movie.mthai.com/view/16/19393-.movie
http://movie.mthai.com/view/16/16176-.movie
http://movie.mthai.com/view/16/10817-.movie
http://movie.mthai.com/view/16/9284-.movie
Mthai. 2008. video.mthai.Retrieved November 29, 2008, from
http://video.mthai.com/player.php?id=23M1227695637M0
Ohanaian, A. Thomas. 1993. Digital Nonlinear Editing : New Approaches to
Editing Film and Video. USA. Butterworth-Heineman.
Rea, W. Peter and Irving, K. David. Producting and Directing the Short Film and
Video. USA. Local Press.
Stam, Robert, Robert Burgoyne, and Sandy Flitterman-Lewis. 1992. New
Vocabularies in Film Semiotics: Structuralism, Post-Structuralism and
Beyond. New York. Routledge,
Yimou, Zhang. 2002. Hero. Twentieth Century Fox. USA. DVD.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น