วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ภาษาภาพยนตร์ : องค์ประกอบของภาพยนตร์02

องค์ประกอบของภาพยนตร์ (Elements of Film)
ในภาษาปกติ ใช้คำหลายๆคำมาเรียงร้อยจนกลายเป็นประโยคเพื่อสื่อความหมาย ในการสื่อสารเรื่องราวหรือความหมายของภาพยนตร์นั้น ประกอบด้วยหน่วยของการเล่าเรื่อง (units of narrative autonomy) หลาย ๆ หน่วยมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน หน่วยของการเล่าเรื่องหน่วยหนึ่ง
อาจแทนด้วย หนึ่งกรอบภาพ(Frame) ในภาพยนตร์ กรอบภาพหลาย ๆ กรอบภาพมาเรียงต่อ
กันกลายเป็นหนึ่งช็อต(shot) เมื่อนำช็อตหลาย ๆ ช็อต มาเรียงร้อยต่อเนื่องสัมพันธ์กันจะเรียกว่า หนึ่งฉากหรือหนึ่งซีน (scene) เมื่อนำหลาย ๆ ซีน (scene) มาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน จะเรียกว่า หนึ่งองค์หรือหนึ่งซีเคว้นซ์ (sequence) และภาพยนตร์ทั้งเรื่องก็คือการนำเอาซีเคว้นซ์หลาย ๆ ซีเคว้นซ์มาเรียงต่อกัน เพื่อให้เล่าเรื่องหรือสื่อความหมายได้ครบถ้วนตามที่ผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ต้องการ ซึ่งในการสื่อความหมายด้วยภาษาภาพยนตร์นั้น ประกอบด้วยปัจจัยหรือองค์ประกอบดังต่อไปนี้
องค์ประกอบด้านฉาก (Set Dressing)
ในยุคแรกเริ่มนั้น นักทฤษฎีภาพยนตร์เรียกว่า "มีล์ ซอง เซน" (Mise en Scene)เป็น
ภาษาฝรั่งเศส หมายถึง การจัดฉากหรือจัดเวที ซึ่งเดิมใช้กับการแสดงละครเวที ต่อมาเมื่อมีภาพยนตร์เกิดขึ้น คำนี้ก็ถูกนำมาใช้เรียกในงานสร้างภาพยนตร์ รวมถึงใช้เรียกงานผลิตในด้านรายการโทรทัศน์ด้วย หลังจากนั้นต่อมา ในกลุ่มประเทศทางด้านยุโรปอื่น ๆ และประเทศสหรัฐ
อเมริกามีความเข้มแข็งขึ้นทางด้านภาพยนตร์มากขึ้น มักจะนิยมเรียกการจัดฉากในภาพยนตร์ว่า Setting หรือ Sets และงานด้านนี้ก็เป็นงานทางด้านออกแบบการผลิต(Production Design)ในการผลิตภาพยนตร์ และใช้กันแพร่หลายต่อมาจนถึงปัจจุบัน องค์ประกอบด้านฉาก ได้แก่
The Queen of Lung-Gasuka Red Cliff Hellboy 2 : The Golden Army
การจัดฉากของภาพยนตร์เรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด, สามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ และ เฮลล์บอย 2 ฮีโร่พันธุ์นรก (Mthai. 2008)
1.1) ฉาก(Sets) เช่น เมืองที่ถูกสงครามทำลายอย่างหนัก ห้องรับแขกสมัยรัชกาล
ที่ 5, บ้านร้างเก่าที่มีวิญญาณสิงอยู่, ฉากพระราชวัง ฯลฯ เป็นต้น
1.2) สถานที่(Location) เช่น เมืองสตาลินกราด ทุ่งดอกทานตะวัน ฯลฯ เป็นต้น
1.3) เวลา(Time) เช่น เช้าตรู่ เวลาเที่ยงวัน เวลาพระอาทิตย์อัสดง ฯลฯ เป็นต้น
1.4)อุปกรณ์ประกอบฉาก(Props) เช่น ปืนพกตำรวจสมัยโบราณ หนังสือทางการแพทย์ โต๊ะและเก้าอี้สมัยใหม่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ผัก ผลไม้ ฯลฯ เป็นต้น
1.5)บรรยากาศของฉาก(Atmospheres) เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าฝ่า ฟ้าแลบ พายุ หมอก ควัน หิมะ แห้งแล้ง ฯลฯ โดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เครื่องฉีดน้ำทำฝนเทียม พัดลมเครื่องใหญ่เพื่อสร้างลมพายุ หรือแม้กระทั่งการเผาวัสดุเพื่อให้บรรยากาศต่าง ๆ สร้างควัน และหมอก ฯลฯ เป็นต้น
องค์ประกอบด้านแสงและเงา ( Lights and Shadows )
การจัดแสงและเงาในภาพยนตร์นั้น สามารถใช้แสงจากแหล่งกำเนิดแสงใน 2
ลักษณะ คือ แหล่งกำเนิดแสงจากธรรมชาติ (Natural Lights) เช่น แสงจากดวงอาทิตย์ แสงที่ลอดผ่านหน้าต่าง แสงสลัวจากเมฆบัง หรือ แสงจากดวงจันทร์ และแหล่งกำเนิดแสงจากแสงประดิษฐ์ (Artificial Lights) เช่น แสงสว่างจากไฟเทียนไข จากตะเกียง จากโคมไฟฟ้าชนิดและขนาดต่าง ๆ กัน การจัดแสงในภาพยนตร์มีความสำคัญและมีความสัมพันธ์กับการจัดฉาก การแสดงของผู้แสดง และการกำกับภาพ และการถ่ายทำภาพยนตร์อย่างยิ่ง การจัดแสงและเงาที่ดี
จะช่วยให้ฉากสวยงาม สร้างบรรยากาศอารมณ์ความรู้สึก สร้างมิติ และยังช่วยส่งเสริมสนับสนุนการแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ของตัวแสดง รวมทั้งการสื่อสารเรื่องราว หรือความหมายของภาพยนตร์
ได้อย่างดียิ่ง
พื้นฐานการจัดแสงในภาพยนตร์นั้น มักจะใช้หลักการจัดแสงแบบสามจุด( Three -Point Lighting) คือ แสงหลัก(Key Light) แสงรองหรือแสงลบเงา(Fill or Base Light) และแสงด้านหลัง(Back Light) จัดร่วมกัน แต่อาจจัดเพียงแหล่งแสง 2 แหล่ง หรือแหล่งแสงเดียวก็ได้
การจัดแสงหรือชนิดของไฟที่แตกต่างกัน จัดขนาดหรือปริมาณหรือค่าของแสง หรือจัดทิศทางของแสงแบบต่างๆ จะสื่อความหมาย นัยยะ ที่แตกต่างกันด้วย เช่น
Three-Point Lighting High Key Lighting Low Key Lighting
การจัดแสดงแบบ Three-Point แบบ High Key และแบบ Low Key ในภาพยนตร์เรื่อง Twilight (Mthai. 2008)
2.1) จัดแสงแบบไฮคีย์(High Key) คือการจัดแสงในโทนสว่าง ซึ่งจะให้บรรยากาศของภาพที่ดูสบายบางเบา สดชื่นแจ่มใส ส่วนของเงาหรือความมืดทึม จะมีแต่เพียงน้อย มักใช้กับภาพยนตร์ประเภทดรามา ประเภทโรแมนติก หรือ ประเภทตลกขบขัน
2.2) จัดแสงแบบโลว์คีย์(Low Key) คือการจัดแสงในโทนมืด เน้นแสงสว่างเพียงบางจุดบรรยากาศโดยรวมจะดูมีเงามืดมาก หม่นมัว ทึมทึบ มักใช้กับภาพยนตร์ประเภทอาชญากรรมสยองขวัญ ลึกลับ สืบสวนสอบสวน เพื่อสร้างความตื่นเต้น น่าค้นหา หรือใช้สื่อถึงด้านมืดของตัวละคร เช่น ภาพยนตร์ประเภทฟิล์มนัวร์(film noir ) จะใช้การจัดแสงแบบนี้เป็นหลัก
2.3) จัดแสงแบบใช้ทิศทาง(Light Directionality) เป็นการจัดแสงเพื่อให้เกิดแสงและเงาแก่ประธาน(Subjects)ของภาพ เช่น ผู้แสดงหลัก วัตถุ ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดหรือแสดงอารมณ์
Up Light Side Light
การจัดแสดงแบบ Up Light และแบบ Side Light ในภาพยนตร์เรื่อง Batman: The Dark Knight (Mthai. 2008)
Down Light Front Light
การจัดแสดงแบบ Down Light และแบบ Front Light ในภาพยนตร์เรื่อง 30 Days of Night (Mthai. 2008)
ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป โดยการจัดแสงหลัก(Key Light)ส่องในทิศทางหรือทำมุมองศากับประธานของภาพในมุมที่แตกต่างกันออกไป จะมีผลทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกันด้วย เช่น การจัดแสงมาจากด้านข้าง(Side Light) จะแสดงความรู้สึกว่าผู้แสดงมีความซ่อนเร้นปิดบัง การจัดแสงมาจากด้านบน (Up Light) จะแสดงความรู้สึกลึกลับน่าเกรงขาม จัดแสงมาจากด้านล่าง ( Down Light) จะแสดงความน่าสะพรึงกลัว แต่หากจัดแสงมาจากด้านหน้า(Front Light) จะแสดงความรู้สึกปกติทั่วไป หากมีการปรับมุม(Angle)หรือองศาของทิศทางของแสงแตก
ต่างออกไป อารมณ์ความรู้สึก การสื่อความหมาย หรือนัยยะก็จะซับซ้อนและแตกต่างกันออกไปมากขึ้น
องค์ประกอบด้านสี (Color)
สีความสัมพันธ์กับฉากและแสงอย่างยิ่ง สีเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ที่สามารถสื่อสาร
ความหมาย อารมณ์ความรู้สึกหรือนัยยะต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี องค์ประกอบด้านสี ได้แก่
3.1)สีที่เกิดจากฉาก คือ สีที่เกิดจากการสร้างขึ้นในฉากนั้นๆ เช่น สีที่ทาบนผนังห้อง
สีของผ้าม่านตกแต่งห้อง สีของโต๊ะและเก้าอี้ สีของดอกไม้ หรือสีของอุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ
หรือแม้กระทั่งสีเครื่องแต่งกายของตัวแสดงที่ปรากฏในฉากนั้น ๆ
สีที่เกิดจากฉาก สีที่เกิดจากการจัดแสง สีที่เกิดจากเทคนิคพิเศษทางภาพ
จากภาพยนตร์เรื่อง Hero จากภาพยนตร์เรื่อง Video Clip จากภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter
(Yimou, 2002) (Mthai. 2008) And The Half-Blood Prince
(Mthai. 2008)
3.2) สีที่เกิดจากการจัดแสง คือ สีที่ได้จากแหล่งกำเนิดแสงต่างๆ เช่น สีของแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านวัสดุสีต่างๆ หรือแสงจากโคมไฟที่ส่องผ่านแผ่นฟิลเตอร์สีหรือเจลสีต่าง ๆ ที่ปรากฏบนฉากนั้น ๆ
3.3) สีที่เกิดจากการใช้เทคนิคพิเศษทางภาพ คือ สีที่ได้จาการสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น สีที่เกิดจากการสร้างหรือการปรับสี(Color Grading) หรือ การแก้สี (Color Correction) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในขั้นตอนหลังการผลิต(Post-Production) ฯลฯ การสร้างสีแบบนี้จะช่วยสร้างลักษณะภาพและสีสรรที่แปลกใหม่ เพื่อช่วยในการสื่อความหมายหรือนัยยะได้ตามที่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต้องการ

1 ความคิดเห็น: